การวางแผนการเงินที่ดีต้องทำอย่างไร – Cashury
เมื่อพูดถึง “การวางแผนการเงิน” คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องยากและไม่จำเป็น จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครเคยวางแผนการเงินเลย นอกจากนี้ยังมีคนเข้าใจผิดอีกว่า การวางแผนการเงินเหมาะสำหรับคนรวยหรือคนที่มีรายได้เยอะๆ แต่ความจริงแล้ว ยิ่งเรามีไม่เยอะก็ยิ่งจำเป็นต้องวางแผนการเงินเช่นกัน
การวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งแรกที่นักวางแผนการเงินพูดถึงเสมอ เพราะจะทำให้เรารับรู้ถึงสถานะทางการเงินของตัวเองว่าเป็นอย่างไร มีรายรับรายจ่าย มีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน
วันนี้เราเลยจะมาสอนทุกคนวางแผนการเงินกันแบบง่ายๆ ที่ถูกต้องตามหลักการ โดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมทางการเงิน หรือเรียกอีกชื่อว่า พีระมิดทางการเงิน เป็นหลักการวางแผนการเงินในระดับสากล
ซึ่งการวางแผนการเงินที่ดีแนะนำว่า ให้เริ่มจากด้านล่างขึ้นด้านบนเสมอ เพื่อให้มีรากฐานที่แข็งแรงก่อนแล้วค่อยไปฐานขั้นถัดไป แต่ก็มีหลายคนที่ไม่รู้จึงเริ่มแบบผิดวิธี โดยเริ่มจากฐานบนสุดก่อน ทำให้กลายเป็นทรงสามเหลี่ยมคว่ำ ถ้าใครที่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นอยู่ ต้องระวังและควรเปลี่ยนวิธีอย่างด่วนเลย มิเช่นนั้นแล้วสามเหลี่ยมทางการเงินของเราอาจจะล้มได้
สามเหลี่ยมทางการเงิน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ความจำเป็นพื้นฐานและการจัดการความเสี่ยง 2.การเก็บสะสม และ 3.การลงทุน
เรามาเริ่มทำความรู้จักฐานของสามเหลี่ยมทางการเงินทีละชั้นกันเลย
เริ่มจากฐานชั้นที่ 1 – เงินสำรองฉุกเฉิน
ในฐานชั้นแรกจะเป็นออกเป็น 2 ส่วน คือ ความจำเป็นพื้นฐานและการจัดการความเสี่ยง
– ด้านความจำเป็นพื้นฐานเป็นสิ่งแรกที่เราควรมีก่อนเลย ก็คือ เงินสำรองฉุกเฉิน โดยเงินก้อนนี้จะมีไว้เผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ตกงานกะทันหัน รวมถึงสามารถนำมาใช้ได้เมื่่อเกิดสถานการณ์ที่จะมากระทบกับการเงินของเรา ดังนั้นเราควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่สำหรับฟรีแลนซ์หรือเจ้าของธุรกิจแนะนำว่าควรมีอย่างน้อย 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะคนกลุ่มนี้จะมีรายได้ที่ไม่แน่นอนจึงต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเยอะกว่า เผื่อถ้าเราไม่มีงานหรือรายได้เข้ามาเป็นเวลานานกว่าปกติ ก็จะยังมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้จ่ายได้
– ด้านการจัดการความเสี่ยง คือ การโอนย้ายและจัดการความเสี่ยง ในส่วนนี้หมายถึงการทำประกัน เช่นประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถ ประกันภัยที่อยู่อาศัย ประกันหนี้สิน เป็นต้น หลังจากที่เรามีเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว สิ่งที่ควรมีคือประกัน เมื่อใดที่เราเกิดเจ็บป่วยทางสุขภาพหรือประสบอุบัติเหตุจนต้องใช้เงินรักษาก้อนใหญ่ เราก็ไม่ต้องนำเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตหมดไปกับค่าดูแลรักษา เพราะประกันจะทำหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านั้นให้เอง ในแต่ละคนจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นก็ควรจะเลือกประกันที่เหมาะสมกับตัวเอง และควรจะทำให้เพียงพอ ไม่ใช่แค่พอมี แต่ก็ไม่ควรเยอะเกินจนกลายเป็นภาระในอนาคต
ฐานชั้นที่ 2 – การเก็บสะสม
ในส่วนนี้เป็นการลงทุนสำหรับเป้าหมายที่มีความจำเป็นและมีความชัดเจน เช่น วางแผนเกษียณ วางแผนการศึกษาบุตร วางแผนซื้อบ้านใน 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นแผนที่มีระยะเวลาค่อนข้างยาว เมื่อพูดถึงแผนการเงิน เชื่อว่าทุกคนคงมีหลายเป้าหมายอยู่ในใจแน่ๆ ดังนั้น เราควรจะเริ่มจากแผนการเงินที่จำเป็นและสำคัญที่สุดก่อน เช่น การวางแผนเกษียณ แล้วค่อยจัดการวางแผนอันต่อไปให้เป็นแผนรองลงมา ซึ่งในส่วนการเก็บเงินลงทุนตามแผนที่เราตั้งไว้ เราอาจจะทำหลายแผนควบคู่กันไปก็ได้ แต่ไม่ควรจะทำทุกแผนพร้อมกันหมด เพราะอาจจะทำให้เราถึงเป้าหมายหลักได้ช้าลง
ฐานชั้นที่ 3 – การลงทุน
ในส่วนนี้เป็นส่วนของการลงทุนตามความต้องการและตามใจเรา อาจจะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เรามีความชำนาญ หรือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เราสนใจก็ได้ เพราะเงินในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเรานั่นเอง โดยควรจะเป็นเงินก้อนที่เรารับความเสี่ยงได้เต็มที่ สามารถขาดทุนได้ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นเงินเย็นที่พร้อมนำมาลงทุน ถ้าเราขาดทุนจนเสียเงินต้นไปบางส่วนก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเราได้วางแผนจัดการขั้นก่อนหน้านี้ครบแล้ว เรายังมีเงินสำรองฉุกเฉินใช้เมื่อตกงาน มีค่ารักษาพยาบาลที่ประกันเป็นคนจ่ายให้
สำหรับคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ น่าจะพอเริ่มเข้าใจและเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินมากขึ้นแล้ว ซึ่งหลักสามเหลี่ยมทางการเงินไม่ยากเลย ใครๆ ก็สามารถเริ่มต้นวางแผนตามได้
ย้ำกันอีกครั้ง!! สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวางแผนการเงิน คือ การจัดการด้านความจำเป็นพื้นฐานและการจัดการความเสี่ยงให้เรียบร้อยก่อน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ไม่มากระทบกับเงินที่เราตั้งใจเก็บออมนะ
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk