ทำไมเงินเกษียณที่เตรียมไว้ ส่วนใหญ่ไม่พอใช้ ? DaddyTrader x FinSpace
บทความโดย DaddyTrader
มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของคนไทยหลังเกษียณ คือ
“31% ของคนสูงอายุไม่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ และ 53% ของผู้มีเงินออมก็มีเงินออมไม่ถึง 200,000 บาท”
สถิตินี้เป็นตัวเลขที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงิน และการวางแผนเก็บออมเงินและลงทุนไว้ใช้ยามเกษียณ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราวางแผนและดำเนินการออมเงินมาอย่างดี แต่เงินออมที่เราเก็บได้ตามแผนก็อาจจะยังไม่เพียงพอนำมาใช้จ่ายยามเกษียณ เนื่องจากมีข้อผิดพลาดในการวางแผนเกษียณ
7 ข้อผิดพลาดในการวางแผนเกษียณ
- เริ่มต้นวางแผนช้าเกินไป (โดยอายุที่เริ่มวางแผนเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี)
- มีความมั่นใจเกินไป
- ไม่มีความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินเท่าที่ควร
- ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินไป
- ประมาณอายุเฉลี่ยน้อยเกินไป
- มีเงินออมน้อยเกินไป
- เกษียณอายุก่อนกำหนดเร็วเกินไป
ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างในหัวข้อเกี่ยวกับความเข้าใจในด้านการวางแผนการเงิน ซึ่งมีปัจจัยหนึ่งที่ผู้วางแผนมักจะมองข้าม คือ “อัตราเงินเฟ้อ” โดยเงินเฟ้อเป็นตัวที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงหลังเกษียณ สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เราประเมิณไว้ตอนแรก
อัตราเงินเฟ้อเป็นเหตุผลทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น เช่น 20 ปีที่แล้วก๋วยเตี๋ยว 1 ชามอาจมีราคา 20 บาท แต่ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยว 1 ชามมีราคา 30-40 บาท เป็นต้น ซึ่งสินค้าและบริการประเภทอื่นๆ ก็มีราคาแพงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นถ้าเราประเมินค่าใช้จ่ายจากตัวเลขสินค้าและบริการในปัจจุบันไว้ที่เดือนละ 20,000 บาท หลังจากที่เราเกษียณอายุในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เงินที่เตรียมใว้ใช้จ่ายจำนวน 20,000 บาทต่อเดือนจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน
หากเราต้องเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายได้เทียบเท่ากับยอดใช้จ่ายในปัจจุบันเดือนละ 20,000 บาท โดยสมมติเพิ่มเติมให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2.5% ในอีก 20 ข้างหน้า (ปีที่เกษียณปีแรก) ต้องเตรียมเงินไว้ประมาณเดือนละ 32,772 บาท (20,000 x (1.025)^20) ส่วนในปีที่ 21, 22, 23, …..จนสิ้นอายุไขตามที่วางแผน ก็ควรเตรียมเงินไว้มากขึ้นกว่าตัวเลขของปีที่ 20 ด้วย เนื่องจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นเดียวกัน
ผมได้ลองทำไฟล์ Excel คำนวณเงินออมและค่าใช้จ่ายสำหรับวางแผนเกษียณไว้เบื้องต้น ซึ่งผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนของเงินออมก่อนเกษียณและหลังเกษียณ และอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินออมกรณีที่ต้องการออมเพิ่มขึ้นเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น
หากผู้อ่านสนใจสามารถทดลองดาวน์โหลดไปใช้งานกันได้เลยที่ > http://bit.ly/3asIsIe
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb