FinSpace

4 ปัจจัยการลงทุนที่ต้องจับตาในครึ่งปีหลัง 2021

4 ปัจจัยการลงทุนที่ต้องจับตาในครึ่งปีหลัง

ผ่านกันมากว่า 1 ปี หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างมหาศาล ส่งผลหให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมด้วยการปรับตัวลงของตลาดหุ้นตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 40% ของตลาดหุ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาของหน่วยงานรัฐทั่วโลก ก็คือ การดำเนินมาตรการนโยบายการเงินและการคลังครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปรกติอีกครั้งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสูงอย่าง จีน สหรัฐฯ และยุโรป

Advertisements

ซึ่งทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นก็สามารถปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจข้างต้น จนกระทั่งในที่สุด ช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับตัวลงจากความกังวลเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวเร็วเกินไปจนสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลก ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพิ่มขึ้น เพื่อชะลอความร้อนแรงดังกล่าว

แต่ถึง ณ ตรงนี้ สถานการณ์ก็คลี่คลายมากขึ้น เมื่อธนาคารกลางพี่ใหญ่ของโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาให้คำมั่นชัดเจรว่าจะไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ย และไม่รีบร้อนลดการเสริมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างมั่นคง แต่คำถามสำคัญต่อมาก็คือ แล้วทิศทางการลงทุนของครึ่งปีหลังนั้นจะต้องติดตามอะไรต่อไป เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนต่อไปในอนาคต

ท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก

ท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก

ธนาคารกลางยังเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีผลต่อภาวะการลงทุนอย่างยิ่ง เนื่องจาก ธนาคารกลางนั้นเปรียบเสมือนผู้ที่ทำหน้าที่เร่ง หรือ ชะลอเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินแบบต่างๆ ซึ่งแม้พี่ใหญ่อย่าง Fed นั้นจะสื่อสารค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าไม่รีบร้อนก็ตาม และพร้อมที่จะให้อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัวแทนของความร้อนแรงของเศรษฐกิจสูงกว่าเป้าหมายระยะหนึ่ง

แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ภาวะราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นกว่าปัจจุบัน, ความตึงเครียดระหว่างจีนกับนานาประเทศที่อาจเร่งให้เงินเฟ้อเกิดขึ้น หรือ ปัจจัยอื่นๆ นักลงทุนจึงต้องติดตามอย่างยิ่งว่า ท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางจะมีท่าทีอย่างไรเพื่อตอบโต้สถานการณ์เหล่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าความกังวลด้านอัตราเงินเฟ้อนั้นคลายกังวลลงดังในช่วงที่ผ่านมา ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และ ความคาดหวังเงินเฟ้อ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นหมายถึงตลาดเองมองข้าม และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจต่ออัตราเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ซึ่งทำให้หากสถานการณ์ผิดคาดไป อาจส่งผลให้ตลาดผิดหวังและปรับตัวลงรุนแรงได้

การผ่านร่างกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การผ่อนเบรกของจีน

การผ่านร่างกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การผ่อนเบรกของจีน

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็คือ การผ่านร่างกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศที่เป็นเสมือนผู้บริโภคของโลก อย่างจีน สหรัฐฯ และ ยุโรป ซึ่งมีตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจสิริรวมมากกว่าวิกฤติการณ์ครั้งใดๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่นอกจากจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แล้ว ยังเตรียมการผ่านอีก 2 ร่างกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมูลค่ากว่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งของโจ ไบเดนประธานาธิบดีป้ายแดงนั้น สามารถผ่านร่างได้อย่างง่ายดาย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติครั้งนี้หนักกว่าครั้งใดๆ หากแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น ก็ส่งผลให้ความจำเป็นที่จะต้องผ่านร่างกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่จะนำมาซึ่งหนี้จำนวนมหาศาลนั้นลดน้อยลงไป ทำให้การต่อรองระหว่าง 2 พรรคการเมืองเดโมแครต และ รีพลับลิกัน เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินลงทุนที่คาดหวังไว้จำนวนมาก อาจน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จนส่งผลให้ตลาดผิดหวัง และปรับตัวลงก็เป็นได้

ขณะที่ทางการจีนเองที่เข้าสู่วิกฤติ COVID-19 เป็นเจ้าแรกของโลก ก็ฟื้นตัวเป็นเจ้าแรก และเข้าสู่โหมดชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจเป็นเจ้าแรกเพื่อป้องกันฟองสบู่เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีตอีกเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ต้องติดตามดูว่าผลสุดท้ายแล้ว ทางการจีนจะคลายการเหยียบเบรกเศรษฐกิจเมื่อใด หากหันกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้งกล่าวก็ย่อมจะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นกลับมาสดใสได้อีกครั้ง

Advertisements

ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ กับทั่วโลก

ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ กับทั่วโลก

แนวโน้มการขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงตำแหน่งมหาอำนาจของโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และยังคงมีแนวโน้มร้อนแรงต่อเนื่องในอนาคต จากท่าทีของผู้นำทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท่าทีของทั้งสองฝ่ายนั้น ต่างใช้วิธีการรวบรวมพันธมิตรเพื่อกดดันอีกฝ่ายให้เติบโตช้าลง

ซึ่งหากท่าทีดังกล่าวนั้น ใช้ในการหนุนให้ตนเองเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น หรือเป็นไปในทางบวก อาทิ การแข่งกันสนับสนุนวัคซีนต้าน COVID-19, การสนันสนุนการค้ากับพันธมิตรตนให้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น หรือ สิทธิพิเศษด้านการลงทุน ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี และช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อ

หากแต่ท่าทีดังกล่าวนำไปสู่กลยุทธ์เชิงลบ เช่น การกีดกันพันธมิตรไม่ให้ทำการค้ากับขั้วอำนาจตรงข้าม หรือ การแบนสินค้าระหว่างกัน อาจนำไปสู่การชะลอของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางเช่นนี้

การกลายพันธุ์ของ COVID-19

การกลายพันธุ์ของ COVID-19

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ COVID-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วนั้น COVID-19 ยังคงกลายพันธุ์จนมีความสามารถในการแพร่ระบาด และมีความร้ายแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้นานาประเทศ อาทิ ชิลี ไทย อิสราเอล ต้องพิจารณามาตรการควบคุมแบบเข้มงวดเพิ่มเติมอีกครั้ง

ซึ่งหากการกลายพันธุ์ดังกล่าว ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ยังอยู่ภายใต้การควบคุมได้ของวัคซีนรุ่นต่างๆ ในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่หากการกลายพันธุ์ดังกล่าวรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าที่วัคซีนจะป้องกันได้ อาจส่งผลให้ต้องเผชิญกับมาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว

Advertisements

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางประเทศที่รัฐบาลอาจไม่มีศักยภาพในการบริหารและจัดการที่ดีพอ จะส่งผลให้ผลที่เกิดขึ้นอาจเลวร้ายมากยิ่งกว่าที่ควรจะเป็น อาทิ เช่น การใช้มาตรการเข้มงวดแบบไม่มีมาตรการชดเชย ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือ การเลือกใช้วัคซีนคุณภาพต่ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็คือ 4 ปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง หวังว่าทุกท่านจะช่วยนำทุกท่านไปสู่การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk

Advertisements

Akn Blog

Related post

Advertisements