Bond Yield สำคัญไฉน Yield Curve คืออะไร ทำไมถึงต้องรู้จัก?
ช่วงนี้หลายคนกังวลเงินเฟ้อ และ Bond Yield จะขึ้นสูง ดังนั้นเราจะมารู้จักเรื่องของตลาดตราสารหนี้กันก่อน แต่จะให้เริ่มจากสูตรคำนวนอะไรเทือกนี้ คงจะไม่จำเป็นสำหรับนักลงทุนหุ้น เรามองไปที่ปลายทางเลย คือ bond yield เมื่อไหร่ขึ้นลง สัมพันธ์อย่างไร และส่งผลกับเศรษฐกิจ และค่าเงินอย่างไร
รู้หรือไม่? Asset Class ที่มูลค่าตลาดหรือเม็ดเงินสูงที่สุดนั้นไม่ใช่ ตราสารทุน (หุ้น) แต่คือ ตราสารหนี้ (พันธบัตรหรือหุ้นกู้) เราเรียกกันกว้างๆ สวยๆ ว่า Fixed-Income
แม้แต่เงินฝากธนาคาร ก็ดูเป็น Fixed-Income เพียงแค่ไม่อยู่ในรูปหลักทรัพย์เท่านั้นเอง โดยหลักของตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ เหล่านี้ก็คือเราจะได้ผลตอบแทนตามหน้าตั๋วที่เขียนไว้ เม็ดเงินที่หมุนเวียนไปมาบนโลกนี้ ส่วนมากคือตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ ทั้งนั้น
โดยปกติที่เราซื้อหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลกัน เราก็จะได้เงินจำนวนหนึ่งกลับมาเสมอ และรอครบอายุค่อยได้เงินเต็มจำนวน แต่รู้หรือไม่ ว่าเราสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในตลาดรอง (หรือเดินไปธนาคารบอกว่าจะขาย แต่ต้องยอดเยอะๆหน่อย และยอมรับราคา discount เยอะเหมือนกัน)
ใครที่ไม่รู้จัก ตราสารหนี้ (Fixed-Income หรือ Bond treasury แบบใดก็ตาม) ให้เข้าใจง่ายๆว่า ราคาจะแปรผกผันกับ Yield (อัตราผลตอบแทนพันธบัตร)
แน่นอนว่าพอเป็นหนี้ ก็ต้องมีกำหนดระยะเวลาในการคืนหนี้ ดังนั้นตราสารหนี้ จึงมีอายุของตราสาร
หากเรานำพันธบัตรรัฐบาลมา Plot โดยให้แกน X (แนวนอน) คือ อายุคงเหลือของตราสารหนี้ (เรียงกันจากน้อยไปมาก) แกน Y (แนวตั้ง) คือ อัตราผลตอบแทน เราจะได้ “เส้นโค้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตร” หรือ “Yield Curve” ซึ่งก็คือ เส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน กับ อายุคงเหลือของตราสารหนี้
นี่แหละหนอ คือสิ่งที่นักวิเคราะห์บางคนจ้องกันประจำ
ซึ่งปกติแล้ว ตราสารหนี้ที่อายุสั้นกว่าจะมีอัตราผลตอบแทนน้อยกว่าตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่า (เหมือนกับเราให้คนอื่นกู้นาน มันก็เสี่ยงกว่า เราก็ต้องได้ผลตอบแทนที่มากกว่าคนที่ให้กู้ไม่นาน)
แต่โลกนี้มันไม่ง่ายดาย มีโอกาสผิดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยน มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ และอื่นๆ ทำให้ Yield curve นั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หลักๆ เราจะเจอรูปแบบ Yield Curve อยู่ 3 รูปแบบ คือ
1. Normal curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น น้อยกว่า Yield ของพันธบัตรระยะยาว
ซึ่งพบเจอได้ในสถานการณ์ปกติ หรือช่วยเศรษฐกิจแข็งแกร่ง.
2. Inverted curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น มากกว่า Yield ของพันธบัตรระยะยาว มักเกิดขึ้นในยามที่คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี หรือมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรวดเร็ว เพื่อประคับประคองเงินเฟ้อ หรือควบคุมอสังหาไม่ให้ฟองสบู่เกินไป
มนุษย์เราเชื่อว่า นี่เป็นสัญญาณ Recession ในอนาคตอันใกล้ 6-12 เดือนข้างหน้า โดยอิงจากข้อมูลสถิติ ซึ่งนานๆ ทีจะเกิดขึ้นสักครั้ง (แต่ใช้ไม่ได้กับทุกตลาดนะ)
3.Flat curve : Yield ของพันธบัตรระยะสั้น เท่ากับ Yield ของพันธบัตรระยะยาว
เกิดขึ้นในช่วงที่เศษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่และเตรียมที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เส้น Yield curve จาก Normal yield curve ที่กำลังเปลี่ยนเป็น Inverted yield curve จะต้องเกิด Flat yield curve เกิดขึ้นก่อน หรือในทางตรงกันข้าม จากวิกฤต ก่อนพลิกไปเป็น steep (normal แบบ กราฟชันมากๆ)
อาจฟังดูยาก ดูซับซ้อน แต่ก็แนะนำค่อยๆศึกษาไปครับ สักพักจะจำ pattern ของมันได้เอง
ส่วนมีเทคนิคดูอย่างไร ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไหน กำลังสื่ออะไร แน่นอนว่าเรื่องที่ตลาดกังวล ว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็จะอยู่ในนั้นด้วย รออ่านได้ในตอนถัดไปครับ
BottomLiner
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk