FinSpace

ส่องธุรกิจสุกี้เจ้าดัง: MK Restaurant ไม่ได้ขายแค่สุกี้

MK

เชื่อว่าถ้านึกถึงร้านอาหารครอบครัวหลายคนคงต้องนึกถึงร้านสุกี้อย่าง MK Restaurant ขึ้นมาเป็นร้านแรก ๆ เพราะมีเมนูหลากหลายทานได้ทุกเพศทุกวัย ปรุงด้วยวัตถุดิบสดใหม่ ไปจนถึงมีบรรยากาศที่เหมาะกับครอบครัว จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายบ้านถึงเทใจให้ร้านอาหารร้านนี้ 

แล้วรู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วบริษัท MK Restaurant ไม่ได้มีแค่ร้าน MK สุกี้ แต่ที่จริงกลับมีแบรนด์ร้านอาหารในมือมากกว่านั้น 

Advertisements

วันนี้แอดจะพาทุกคนไปส่องธุรกิจของ MK พร้อม ๆ กัน แล้วจะเห็นว่านอกจากร้านสุกี้ MK ร้านอาหารชื่อคุ้นหูอยู่ในมืออีกหลายร้านเลยครับ

MK

ทำความรู้จักร้านสุกี้ที่มีแทบทุกห้าง

MK Restaurant เปิดสาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี 2529  และขยายสาขามาอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 455 สาขา และมีแผนที่จะเปิดอีก 10 สาขาในปี 2565 แม้การแข่งขันในธุรกิจชาบู-สุกี้ จะดุเดือดจากการที่ปัจจุบันมีธุรกิจหม้อไฟหลากหลายสัญชาติ หลากหลายราคา เปิดบริการเป็นดอกเห็ด ด้วยจุดเด่นของการเป็นร้านอาหารสำหรับช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัวคนไทย

บริษัทเจ้าของแบรนด์ MK มีชื่อเต็มว่า บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อย่อหุ้น M โดยปัจจุบัน MK มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท และมีกำไรในปีที่ 2565 ที่ 1.44 พันล้านบาท โต 999% จากฐานต่ำในปีก่อนที่โควิดยังระบาดหนักจนรัฐต้องใช้มาตรการควบคุมเข้มงวด

MK มีอะไรมากกว่าที่คิด

ถ้าพูดถึง MK หลายคนน่าจะนึกถึงร้านสุกี้โลโก้สีแดงเขียวที่มีอยู่ทั่วไปตามห้าง แต่เอาเข้าจริงแล้วในแบรนด์ MK เองก็ยังมีแบรนด์ย่อยลงไป แบ่งเป็น MK Suki (ร้านทั่วไป) 446 สาขา MK Gold (5 สาขา) และ MK Live (4 สาขา) ซึ่ง 2 อย่างหลังคือร้านที่เปิดมาเพื่อบริการลูกค้าในเซกเมนต์ต่างไปจากลูกค้าหลักเล็กน้อย

และในจำนวน 455 สาขานี้ มี 25 สาขาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีสาขา MK มากที่สุดนอกจากไทย นอกจากนี้ MK ยังมีสาขาในเวียดนาม 6 สาขา และลาวอีก 3 สาขา โดยธุรกิจของร้าน MK ช่วยโกยรายได้เข้าบริษัทมากถึง 74%

น้องรองแห่งบ้าน MK

รองจาก MK แล้ว ก็เป็น Yayoi Restaurant (ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ 18% ของบริษัท) ที่เราน่าจะคุ้นตาอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นอีกหนึ่งร้านที่มีสาขาอยู่ตามห้างทั่วไป โดย Yayoi เป็นแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น เน้นการให้บริการอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยา เปิดสาขาแรกในปี 2549 ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งสิ้นกว่า 195 สาขา และในจำนวนนี้มีสาขาในสิงคโปร์อยู่ 6 สาขา 

Advertisements

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา MK ได้เข้าไปลงทุนในร้าน แหลมเจริญซีฟู้ด โดยถือหุ้น 65% มูลค่าการลงทุน 2,060 ล้านบาท แต่ที่จริงแล้วร้านแหลมเจริญเปิดมาตั้งแต่ปี 2522 เป็นร้านอาหารทะเลแบบไทยที่มีเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดระยอง โดยในปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 36 สาขา สามารถทำรายได้ให้บริษัทได้ 6% ของรายได้รวม

นอกจากนี้ รายได้อีก 2% ของ MK มาจากร้านอื่น ๆ ในมือ เช่น

  • ร้านฮากาตะ ราเมน
  • มิยาซากิ เทปปันยากิ
  • ร้านอาหารไทย ณ สยาม
  • ร้านเลอ เพอทิท
  • ร้านบิซซี่ บ็อกซ์
  • อื่น ๆ

*อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566

Advertisements

หมายเหตุ : บทความนี้ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT:  https://bit.ly/3J8LS1W

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements