ชวนมารู้! ตัวย่อที่พบบ่อย ในชีวิตประจำวัน มีชื่อเต็มว่าอะไร?
“บริษัทมาม่า” ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ไม่ได้ขายแค่ มาม่า
ถ้านึกถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเชื่อว่าคำแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวต้องหนีไม่พ้นคำว่า มาม่า และเผลอๆ เราอาจนึกถึงคำว่ามาม่าก่อนคำว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยซ้ำ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของคำว่า generic name หรือการนำชื่อแบรนด์ (ที่โด่งดัง) มาเป็นชื่อเรียกแทนชนิดสินค้า
แล้วรู้หรือไม่ว่า แม้มาม่าจะเป็นสินค้าที่ดังที่สุดของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ แต่เอาเข้าจริงทางบริษัทยังมีธุรกิจอยู่ในมือมากกว่า 5 อย่าง แถมยังมีแบรนด์ชื่อคุ้นหูคนไทยอยู่ในครอบครองอีกหลายแบรนด์
วันนี้เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจ “บริษัทมาม่า” ลองมาดูว่านอกจากบะหมี่กึ่งฯ แล้ว ยังมีอะไรที่เป็นขุมรายได้ของบริษัทอีกบ้าง
รู้จัก “บริษัทมาม่า” อย่างเป็นทางการ
ผู้ผลิตมาม่ามีชื่อเต็มๆ คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ตัวย่อหลักทรัพย์ TFMAMA จัดอยู่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยล่าสุดมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท
ในปี 2565 บริษัทภายใต้การนำของ พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ผู้เป็นประธานกรรมการบริหาร มีรายได้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท และเมื่อหักลบต้นทุนขายไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารแล้วจะเหลือกำไรอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท (งวด 9 เดือน ปี 2565)
รู้จักกันให้มากขึ้น ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ขายอะไรบ้าง
บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นที่มาของรายได้กว่าครึ่ง (50.39%) ของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ โดยมาม่าเป็นที่แบรนด์ยอมรับจากผู้บริโภคมากว่า 40 ปี ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในประเทศไทย ทางบริษัทยังรับจ้างผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้กับบริษัทชั้นนำของทวีปยุโรป อเมริกา และ ออสเตรเลีย ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 7 ล้านซองต่อวัน
และต้องบอกว่าถ้าพูดถึงบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เราไม่ได้หมายถึงแค่บะหมี่เส้นสีเหลืองนวลแค่อย่างเดียวเท่านั้น เพราะทางบริษัทยังมีอาหารกึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ เช่น เส้นหมี่ขาวกึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป ก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ เช่น มาม่า รุสกี Thai Chef และ Mendake เป็นต้น
เบเกอรี่ คือแหล่งรายได้หลักอีกก้อน โดยมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 (24.05%) ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนนี้มาจากการที่บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทเจ้าของแบรนด์ ฟาร์มเฮาส์ ในสัดส่วน 51.99% นั่นเอง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ คือ
- ขนมปังกรอบ เช่น โฮมมี่ บิสชิน (สัดส่วนรายได้ 3.74%)
- น้ำผลไม้ เช่น กรีมเมท เคลลี่ (สัดส่วนรายได้ 3.52%)
- ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (สัดส่วนรายได้ 11.31%)
- อื่นๆ เช่น ผลิตวัตถุดิบแป้งสาลีสำหรับผลิตภัณฑ์บะหมี่, ธุรกิจการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจตัวแทน นายหน้า ส่งออก (สัดส่วนรายได้ 6.99%)
*อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566
หมายเหตุ : บทความนี้ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา
- https://www.mama.co.th/en/ir
- https://www.mama.co.th/en/products-domestic-cate
- https://www.settrade.com/th/equities/quote/TFMAMA/company-profile/profile
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W