FinSpace

Hyperloop คืออะไร ? จากแนวคิดของ Elon Musk

Hyperloop คืออะไร

ในช่วงที่ผ่านมานี้ อาจได้ยินข่าวการทดสอบ Hyperloop ผ่านหูมาไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีผู้โดยสารจริงเป็นครั้งแรกของโลก โดย Virgin Hyperloop (เป็นบริษัทในเครือ Virgin Group นั่นเอง)

การทดสอบครั้งนี้มีผู้โดยสาร 2 คน ด้วยความเร็วที่ 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อทดสอบด้านความปลอดภัย หลังจากที่เคยทดสอบแบบไร้ผู้โดยสารมามากกว่า 400 ครั้ง

Advertisements

เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา Hyperloop ถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อด้านเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ในฐานะที่เป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นโดย Elon Musk จนกลายมาเป็นการพัฒนาขึ้นมาจริงจากบริษัทต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Hyperloop กันแบบคร่าวๆ ตามแบบฉบับ FinSpace ว่ามีการเริ่มต้นอย่างไร พัฒนาอะไร และอื่นๆ อีกมากมาย ว่าแล้วไปอ่านกันต่อเลย…

= ย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ Hyperloop =

เชี่อว่าหลายๆ คนอาจนึกว่า Hyperloop นั้นมีเจ้าของเป็นเจ้าพ่อด้านเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Elon Musk ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็อาจจะถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะอันที่จริงแล้ว Elon Musk เป็นเพียงแค่ผู้เสนอแนวคิดนี้เท่านั้น

หน้าที่การนำไปต่อยอดเป็นของจริงจึงเป็นของบริษัทต่างๆ ที่พัฒนา Hyperloop ของตัวเองทั้งสิ้น แต่ด้วยเหตุใด ? Elon Musk ถึงออกมาเผยแพร่แนวคิดนี้ ?

นั้นก็เพราะว่าในช่วงปี 2012 และ 2013 โครงการรถไฟความเร็วสูงในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนามว่า “California High-Speed Rail” ได้รับการอนุมัติให้พัฒนาจริง จึงทำให้ Elon เองออกอาการผิดหวังพอสมควร เพราะในมุมมองของเขานั้น มลรัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเป็นศูนย์รวมบริษัทไอทีอย่าง Silicon Valley หรือศูนย์ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น Jet Propulsion Laboratory ของ NASA ก็ตั้งอยู่ที่นี้ แต่ทำไมถึงดันมาอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ค่าก่อสร้างแสนแพงและช้าไม่คุ้มทุนเอาซะงั้น ?

จึงทำให้ในปี 2013 Elon ออกแนวคิดต่อยอดเพื่อมองหารูปแบบการเดินทางสาธารณะที่นอกเหนือจากรถยนต์หรือเครื่องบิน และยังต้องดีกว่าด้วย เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการเดินทางด้วยรถไฟ แต่ก็ยังถือว่าช้ากว่ามาก แถมแพงไม่คุ้มทุนอีกด้วย โดยได้ออกมากำหนดเกณฑ์ว่ารูปแบบการเดินทางสาธารณะใหม่นี้จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ปลอดภัยกว่า
  • เร็วกว่า
  • ราคาถูกกว่า
  • สะดวกสบายกว่า
  • สภาพอากาศไม่มีผลต่อการใช้งาน
  • ดูแลระบบเองได้ในระยะยาว
  • ปลอดภัยต่อแผ่นดินไหว
  • เป็นมิตรต่อผู้อื่นตลอดเส้นทาง

Elon Musk จึงออกไอเดียว่าระบบการเดินทางสาธารณะที่เขากำลังร่างแนวคิดอยู่อย่าง “Hyperloop” นั้นจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับความต้องการก่อสร้างระบบเดินทางสาธารณะในระยะไม่เกิน 1500 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการเดินทางผ่านท่อสุญญากาศ โดยมีพาหนะบรรจุผู้โดยสารที่เรียกว่า Pod หรือ Capsule เป็นตัวกลาง

Advertisements

นอกจากนี้ Elon ยังเสริมอีกด้วยว่า Hyperloop จะทำให้การโดยสารในระดับความเร็วเหนือเสียงเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่แพง เมื่อเทียบกับเครื่องบินความเสียงเหนือเสียงในอดีตที่เต็มไปด้วยปัญหาทางเทคนิคและความซับซ้อนอีกด้วย

แม้ว่าจะเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และเป็นแนวทางที่นำไปต่อยอดได้จริง แต่อย่างที่ทราบกันว่า Elon Musk มีโปรเจคต์และบริษัทในมือที่ต้องดูแลจนล้นมือ เขาจึงเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง Hyperloop ออกมาให้แก่สาธารณะทั้งหมด เพื่อให้ใครก็ตามที่สนใจนำไปพัฒนาต่อเอง โดย Elon ได้ช่วยเพียงแค่จัดแข่งขันสร้าง Hyperloop เพื่อผลักดันการพัฒนาเท่านั้น

= ต่อยอดแนวคิด Hyperloop =

หลังจากที่ Elon Musk ได้ออกมาเผยแพร่แนวคิดของเขาแก่สาธารณะได้ไม่นานหลายๆ คนสนใจแนวคิดการเดินทางรูปแบบนี้อยู่ไม่น้อย ส่งผลให้มีกลุ่มนักพัฒนาต่างๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนา Hyperloop ของตัวเองอย่างแพร่หลาย ขอยกตัวอย่างมาคร่าวๆ ให้เห็นภาพว่าในสังเวียน Hyperloop นี้ มีใครบ้างที่แข่งขันกันอยู่

  1. Hyperloop Transportation Technologies หรือ HyperloopTT เป็นบริษัทแรกเริ่มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ปีเดียวหลังจากที่ Elon Musk ออกมาเผยแพร่แนวคิด และ HyperloopTT มีทีมงานวิศวะกรและผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกันมากกว่า 800 คนในปัจจุบัน
  2. Virgin Hyperloop One หรือที่รู้จักกันในชื่อก่อนว่า Hyperloop One เป็นอีกบริษัทที่พัฒนา Hyperloop อยู่ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ก่อนที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Virgin Group ของมหาเศรษฐี Richard Branson ล่าสุดได้ทดสอบ Hyperloop กับผู้โดยสายจริงแล้ว
  3. TransPod บริษัทพัฒนา Hyperloop อีกเจ้าจากประเทศแคนาดา ที่คนไทยหลายๆ คนอาจคุ้นชื่อจากการที่เป็นบริษัทที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจได้ว่าจ้างให้ทำการทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย

= แนวคิดเรื่อง Hyperloop ในไทย =

สำหรับกระแสสังคมไทยแล้ว Hyperloop กลายเป็นเรื่องที่ฮือฮาอีกครั้งในประมาณปีที่แล้วก่อนเลือกตั้ง โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้ออกมาเผยแพร่ว่าเขาเองได้ว่าจ้างให้บริษัท TransPod ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังพัฒนา Hyperloop ตามที่ได้ระบุไว้ด้านบน ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในของ Hyperloop ในไทย ในเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ-ภูเก็ต

Advertisements

ซึ่งคุณธนาธรได้กล่าวไว้ว่า Hyperloop จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ใหญ่ในการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่สามารถช่วยยกระดับประเทศผ่านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และหนีออกจากกับดับประเทศกำลังพัฒนาที่ประเทศไทยติดหล่มมานาน โดยหลังที่คุณธนาธรเผยแพร่แนวทางออกไป ก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถึงความเป็นไปได้ กลายเป็นอีกประเด็นเผ็ดร้อนในช่วงที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย

= สรุป =

เรียกได้ว่า Hyperloop เป็นอีกแนวคิดด้านการเดินทางที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะ FinSpace ก็มองว่าหากสามารถพัฒนาได้จนถึงระดับเชิงพาณิชย์แล้ว ก็อาจ Disrupt รูปแบบการเดินทางอื่นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินในระยะสั้นหรือรถไฟ แถมในปัจจุบันก็เริ่มเข้าใกล้เข้าเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ แล้ว ไม่แน่ว่าในอีก 5 ปี เราอาจได้เห็นคนเดินทางด้วย Hyperloop เป็นปกติก็เป็นได้ ถ้าถึงตอนนั้นเราเองก็คงไม่พลาดลองใช้งานด้วยตัวเองอย่างแน่นอน


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements