‘Cognitive Bias’ พฤติกรรมการรับรู้ที่บิดเบือน คุณกำลังตัดสินคนอื่นล่วงหน้าอยู่รึเปล่า?
“ใส่แว่นแบบนี้ต้องเนิร์ดแน่ ๆ”
จะทำอย่างไรเมื่อหัวใจไม่ชอบตัดสิน แต่สมองเจ้ากรรมดันเผลอประเมินคนอื่นโดยอัตโนมัติ เพราะแบบนั้น เราจึงควรรู้เท่าทันกลไกความคิดของตนเอง
อคติทางความคิด (Cognitive Bias) กับดักที่ทำให้เรามองคนแบบผิด ๆ มีอคติกับคนรอบข้าง และคงเป็นปัญหาหากเผลอนำพฤติกรรมนี้ไปใช้เวลาทำงาน อาจทำให้คุณกลายเป็นคนลำเอียงโดยไม่รู้ตัว
ด้วยความที่สมองรับรู้ข้อมูลเพียงส่วนเล็ก ๆ และเผลอประเมินโดยฉับพลันว่า “น่าจะเป็นอย่างงี้แน่” เพราะเอาไปผูกกับชุดความเชื่อเดิม หรือเลือกรับข้อมูลมาเพียงด้านเดียวจึงทำให้เกิดความเข้าใจแบบผิด ๆ
อธิบายแบบนี้อาจไม่ค่อยเห็นภาพ ลองไปดูกันดีกว่าว่า ‘พฤติกรรมการรับรู้ที่บิดเบือน’ มีกี่แบบ แล้วลองเช็กดูซิว่าเรากำลังทำอยู่รึเปล่า
4 รูปแบบของ Cognitive-Bias รูปแบบของพฤติกรรมการรับรู้ที่บิดเบือน
1.ตัดสินคนที่เปลือกนอก (Halo Effect)
สังคมมักให้ความสำคัญกับความประทับใจแรกก็เพราะสมองของมนุษย์ทำงานไวมาก การที่เราเจอหน้าใครแล้วรู้สึกยังไงตั้งแต่ 4 วินาทีแรก ย่อมมีโอกาสที่จะเผลอคิดว่าเขาเป็นคนแบบนั้น เช่น หน้าตาแบบนี้ต้องฉลาดแน่เลย, แต่งตัวดีแบบนี้มีตังค์แน่ ๆ ทั้งที่สุดท้ายแล้วมันอาจไม่ใช่ความจริง
2.เหมารวม (Stereotyping)
การเห็นลักษณะบางประการของผู้อื่นแล้วเผลอตัดสินแบบอิงกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น คนแก่ต้องเชย วัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ต้องเป็นเด็กแว้น ใส่แว่นต้องเรียนเก่ง ผู้ชายเที่ยวกลางคืนนั้นเจ้าชู้ หากคุณมีความคิดแบบนี้ อาจถูกมองว่าโลกแคบได้นะ ควรท่องไว้เสมอว่า ‘Not all’ ทุกคนไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
3.คิดเองเออเอง (Assumed Similarity)
เมื่อเห็นพฤติกรรมบางอย่างของคนอื่นแล้วนำมาผูกกับสิ่งที่ตนเองเป็น เช่น เห็นเพื่อนไม่กินผัก เราอาจเผลอคิดว่า “อุ๊ย ไม่ชอบกินผักเหมือนกันเลย” ความจริงเขาอาจจะแพ้ผักหรือมีเหตุผลอื่นซึ่งไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้
4.เลือกรับรู้ข้อมูลเพียงส่วนเดียว (Selective Perception)
‘ทำดีร้อยครั้ง ไม่เท่าทำพลาดแค่ครั้งเดียว’ น่าแปลกที่สมองมักชอบจำเรื่องราวด้านลบมากกว่าเรื่องดี คงเป็นเพราะกลไกในการป้องกันตนเองที่ทำให้เราระแวดระวังอยู่เสมอ
ทว่าคงไม่ดีเท่าไหร่นัก หากเลือกจำแต่ความผิดพลาดของคนอื่น อย่างเช่น นาย A ทำงานดีมากมาโดยตลอด แต่ทำพลาดแค่ครั้งเดียว หัวหน้ากลับประเมินเขาแย่หรือไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง ดูใจร้ายไปหน่อยใช่ไหมล่ะ
แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะเผลอตัดสินโดยอัตโนมัติ ว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่อยากให้ค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ เปิดใจถามและใช้เวลาศึกษาคนรอบข้างให้มากขึ้น แทนที่จะตัดสินไปก่อน
.
🗻เพราะยอดหินเล็ก ๆ ที่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ
แท้จริงอาจเป็นภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมา
.
ดังนั้น หากทำได้ นอกจากจะกลายเป็นคนรอบคอบและใจกว้างมากขึ้นแล้ว เราอาจได้เรียนรู้นิสัยของคนหลากหลายรูปแบบ ได้ประสบการณ์บางอย่างเพิ่มขึ้นด้วยนะ
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk