FinSpace

สรุป 4 ขั้นตอนการทำ Nonviolent Communication (NVC) เพื่อการสื่อสารที่ราบรื่น

4 ขั้นตอนการทำ Nonviolent Communication (NVC)

สรุป 4 ขั้นตอนการทำ Nonviolent Communication (NVC) เพื่อการสื่อสารที่ราบรื่นบทความโดย เพื่อนผู้ใจดี

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกเหมือนกันว่า บางทีไม่ต้องใช้กำลังหรอก แค่คำพูดที่เชือดเฉือนกันก็ทำร้ายได้มากพอแล้ว เผลอๆ จะมากกว่าอีก

Advertisements

ในฝั่งของคนพูดนั้น บางทีอาจจะพูดโดยไม่ทันคิด บางทีก็ใช้อารมณ์เกินไป ซึ่งคำพูดบางคำเราก็หลงลืมมันอย่างง่ายดาย ขณะที่บางครั้งก็มานึกเสียใจทีหลังว่าไม่น่าพูดออกไป

ต่างกันกับคนฟัง ที่หลายๆ ครั้งมักจะไม่สามารถสลัดคำพูดทิ่มแทงที่ได้ยิน มันยังคงรีเพลย์อยู่ในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งนึกถึงเท่าไรก็ยิ่งเจ็บเท่านั้น ถึงได้มีคำแนะนำว่า อย่าไปคิดถึงมัน เพราะคนพูดพูดครั้งเดียวจบ แต่เราเอามาฟังวนซ้ำเรื่อยๆ ก็ยิ่งเจ็บเท่านั้น

ยิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่สุขสงบ ทุกคนเป็นมิตร พูดจาภาษาดอกไม้กัน หลายๆ ครั้งเราต้องเผชิญความขัดแย้ง ต้องพบเจอเรื่องไม่น่าอภิรมย์ ต้องประสบกับเรื่องที่ทำให้เรายึดอีโก้ตัวเองเป็นหลัก ส่งผลให้เราเผลอใช้ถ้อยคำแรงๆ สู้กลับไป ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไร อย่างน้อยก็ทำให้อีกฝ่ายเกลียดขี้หน้าเราไปแล้ว

จะมีวิธีไหนมั้ยที่จะทำให้เราสามารถต่อกรกับสิ่งต่างๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้วาจาเป็นอาวุธ? หนังสือ Nonviolent Communication: A Language of Life ซึ่งเขียนโดยดร. Marshall B. Rosenberg ผู้เป็นทั้งนักจิตวิทยา นักสันติวิธี นักเขียน อาจารย์ และผู้อำนวยการศูนย์การสื่อสารเพื่อสันติ (Center for Nonviolent Communication) ได้แชร์เคล็ดลับการสื่อสารอย่างสันติ ไม่ทำร้ายจิตใจกันและกัน โพสนี้เลยจะขอมาสรุป 4 ขั้นตอนการสื่อสารแบบ NVC ให้ทุกคนได้รู้จักกัน

📌 สามารถอ่านรายละเอียดเต็มๆ ที่หนังสือ Nonviolent Communication: A Language of Life หรือจะดูสรุปหนังสือแบบเต็มของเราที่ https://thezepiaworld.com/…/13/nonviolent-communication/

1.การสังเกต (Observation)

การสังเกต Observation

สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น เราทำอะไร อีกฝ่ายทำอะไร อธิบายมันออกมาโดยอย่าเพิ่งไปตัดสินว่าถูกหรือผิด

ขั้นตอนแรกของ NVC คือการสังเกต ซึ่งการสังเกตนี้จะต้องไม่ปะปนกับการตัดสิน (Evaluation) เรียกอีกแบบคือ รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไป เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ซึ่งพูดแบบนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่จริง ๆ แล้วก็มีความ Tricky เหมือนกัน

เอาตัวอย่างง่ายๆ ก่อน เช่น แทนที่จะบอกว่า “เขาเป็นคนรุนแรง” คำถามต่อมาคือรุนแรงยังไง? ใช้อะไรตัดสินว่ารุนแรง? ก็อาจจะต้องอธิบายแทนว่า “เขาตีน้องสาวตัวเองตอนที่น้องเปลี่ยนช่องโทรทัศน์”

ตัวอย่างต่อมา “พ่อฉันเป็นคนดี” คำถามคือดียังไง? ใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน? ก็อาจจะอธิบายไปว่า “25 ปีที่ผ่านมานี้ พ่อฉันแบ่งเงินเดือน 1/10 ไปบริจาค”

น่าจะเริ่มพอจับทางได้ ว่าการใช้ Adjective เช่นพวก ดี แย่ ร้าย ขี้เกียจ คือการที่เราตัดสินอีกฝ่ายโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของเราเอง
แต่ส่วนที่อาจจะเข้าใจยากนิดนึงคือ การใช้คำที่บ่งบอกความถี่ เช่น บ่อย ๆ บางครั้ง ไม่ค่อย

ตัวอย่างเช่น “ลูกชายฉันไม่ค่อยแปรงฟันเลย” คำถามคือไม่ค่อยนี่คือไม่บ่อยขนาดไหน? ก็อาจจะต้องอธิบายเพิ่มว่า “สองครั้งแล้วนะในสัปดาห์นี้ที่ลูกชายฉันไม่แปรงฟันก่อนเข้านอน”

กรณีอื่นๆ ที่อาจจะยากขึ้นมาอีก ก็เช่น การบอกว่าอีกฝ่าย “ผลัดวันประกันพรุ่ง“, เธอ “ไม่น่าทำงานส่งทัน”, ถ้าคุณไม่ออกกำลัง “ร่างกายคุณจะอ่อนแอนะ“, พวกเขา “ไม่ดูแลสถานที่ของตัวเองเลย”, เขาช่าง “ไม่มีเหตุผล”

ถ้าให้สรุปภาพรวม มันก็คือการใส่ความคิดเห็นของเราปะปนเข้าไปนั่นเอง การใช้ NVC ควรแยกทั้งคู่ออกมาอย่างชัดเจน แยกให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราเห็นจริง ๆ อะไรคือสิ่งที่เราปรุงแต่งเข้าไป

การที่เราเผลอพูดอะไรตัดสินอีกฝ่ายไป นอกจากอีกฝ่ายจะไม่รู้สึกเข้าใจเราแล้ว ยังมีแนวโน้มจะตั้งกำแพง และปกป้องตัวเองที่โดนโจมตีด้วย

2. ความรู้สึก (Feelings)

ความรู้สึก Feelings

บอกมาว่าสิ่งที่สังเกตนั้น ทำให้เรารู้สึกยังไง? เสียใจ กลัว สบายใจ สนุก หงุดหงิด ฯลฯ

ขั้นที่สองของ NVC คือการเผยว่าเรารู้สึกยังไง ซึ่งก็นั่นแหละ ฟังดูเหมือนง่ายแต่ก็ยาก เพราะบางทีสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการแสดงความรู้สึก จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น หรือการตัดสินต่างหาก

และการที่เราไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของเราออกมาเป็นคำได้ ก็ลดโอกาสที่อีกฝ่ายจะสามารถเข้าใจเรามากขึ้น เผลอๆ อาจจะยิ่งต่อต้านเราหนักกว่าเดิม หากเราเผลอแสดงความคิดเห็นที่ตัดสินอีกฝ่าย

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าห้องข้างๆ เปิดเสียงเพลงดังมาก และเราก็ไม่ชอบเลย เราอาจจะบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าการเปิดเพลงดังๆ เป็นเรื่องที่ไม่สมควร”

จริงๆ แล้วนี่เป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึก มันอาจจะเป็นการบอกว่า “ฉันรู้สึกรำคาญ” “ฉันรู้สึกไม่สบายใจ”

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่าสามีไม่ค่อยคลุกคลีกับภรรยา ไม่ค่อยพูดจา ภรรยาอาจจะบอกว่า “ฉันรู้สึกเหมือนแต่งงานกับหิน” ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ความรู้สึกอีกนั่นแหละ เธอควรจะแสดงความรู้สึกออกมา เช่น “ฉันรู้สึกเหงา” “ฉันรู้สึกท้อแท้” เป็นต้น

Advertisements

คือเพราะพูดออกมาในแง่มุมของความรู้สึกเนี่ย เรามักจะจินตนาการออกเลยว่าความรู้สึกต่างๆ มันเป็นยังไง เพราะมันเป็นสิ่งที่ Universal เป็นอะไรที่ทุกคนน่าจะเคยสัมผัสกัน เช่น ความรู้สึกเหงา เศร้า เสียใจ ผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้อีกฝ่ายเข้าใจเรามากขึ้น

ในที่ทำงาน หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากแสดงความรู้สึกมากนัก เพราะกลัวว่าจะเป็นการเผยความอ่อนไหว ไม่เป็นมือโปรฯ แต่จริงๆ แล้วยิ่งแสดงความรู้สึกเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ ได้มากเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการด้วย

นอกจากนี้ การแค่อธิบายความรู้สึกกว้างๆ ว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก จริงอยู่ว่ามันเป็นความรู้สึก แต่จะยิ่งดีกว่านี้ถ้าสามารถลงรายละเอียดได้ เช่น ที่รู้สึกดีนี่ ก็อาจจะเป็นความรู้สึกดีใจ ตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า สนุกสนาน ในขณะที่ถ้ารู้สึกไม่ดีก็อาจจะเป็นความรู้สึกหดหู่ เศร้าใจ เจ็บปวด เหงา เป็นต้น

3. ความต้องการ (Needs)

ความต้องการ Needs

บอกความต้องการที่ข้องเกี่ยวกับความรู้สึกนั้นๆ

ขั้นตอนที่สามของ NVC คือการค้นพบต้นตอของความรู้สึกเราให้พบ หรือนั่นก็คือการระบุว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการ?

จริงๆ แล้ว การที่คนอื่นพูดอะไรหรือทำอะไร เป็นเพียง “สิ่งกระตุ้น” เท่านั้น ไม่ใช่ต้นตอของความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ แล้วความรู้สึกมันขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกรับสารที่คนอื่นส่งมาอย่างไร หรือในขณะนั้นเรากำลังคาดหวังอะไร

ลองดูตัวอย่างของการระบุต้นตออารมณ์ 2 ประโยคนี้
“คุณทำให้ฉันผิดหวังที่ไม่มางานเย็นนี้”
“ฉันผิดหวังตอนที่คุณไม่ได้มางาน เพราะฉันอยากคุยเรื่องบางอย่างที่ยังค้างคาใจฉันอยู่”

ประโยคแรกนั้นเป็นการโยนความรับผิดชอบให้อีกฝ่าย ที่ฉันรู้สึกแบบนี้อะเพราะแกนะ ซึ่งเมื่ออีกฝ่ายได้ยินก็คงรู้สึกผิด รู้สึกแย่ ไม่ก็โกรธ นำไปสู่การต่อต้าน ในขณะที่ประโยคสองนั้น เป็นการรับผิดชอบความรู้สึกของตัวเองด้วยการบอกว่าต้นตอของความรู้สึก ก็คือความต้องการอยากคุยของตัวเอง

4. คำขอ (Requests)

คำขอ Requests

สุดท้ายแล้ว บอกว่าเราต้องการให้อีกฝ่ายทำอะไร เพื่อให้เราบรรลุสิ่งที่ต้องการ

ขั้นที่สี่ของ NVC คือการขอในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งการขอนี้ก็มีรูปแบบของมันนะ ทำยังไงถึงจะไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามันเป็นคำสั่ง? ทำยังไงถึงจะไม่กดดันคนอื่น?

อย่างแรกคือ คำขอควรระบุชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ แทนที่จะเป็น อะไรคือสิ่งที่เราไม่ต้องการ ตรงนี้หลายครั้งที่เรามักจะเผลอใช้แทนกัน แต่ผลลัพธ์ต่างกันมาก สังเกตดูว่าระหว่าง “อย่าไปเที่ยวให้มันดึกดื่นนักจะได้ไหม” กับ “ฉันอยากให้คุณอยู่กับฉันตอนเย็นอย่างน้อยก็สัก 1 ครั้งต่ออาทิตย์” แบบไหนน่าทำตามกว่ากัน?

คำขออะไรก็ตามที่ถูกฟอร์มในรูปแบบของคำด้านลบ เช่น “ห้าม” “อย่า” “ไม่” คือคำขอที่บ่งบอกว่าคุณไม่ต้องการอะไร ซึ่งคำขอพวกนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้อีกฝ่ายเกิดการต่อต้าน เพราะมันฟังดูเหมือนเข้ามายุ่มย่ามในชีวิต แทนที่จะใช้คำด้านลบ ก็ลองใช้คำที่บอกไปตรงๆ เลยว่าเราอยากให้อีกฝ่ายทำอะไร

Advertisements

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องระบุคำขอไปอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่บอกแค่กว้างๆ เพราะเป็นไปได้ว่าอีกฝ่ายอาจจะตีความผิดไป หรือไม่เข้าใจชัดเจนว่าต้องทำอะไรกันแน่ เช่น ระหว่าง “ฉันอยากให้คุณมอบอิสระแก่ฉัน” กับ “ไม่ว่าฉันจะทำอะไรก็ตาม ฉันอยากให้คุณยิ้มให้ฉัน และบอกว่าทำได้เต็มที่เลยไม่ต้องกังวล” อย่างหลังก็จะมีความชัดเจนกว่า

กฏข้อสำคัญของการขออีกอย่างคือ อย่าทำให้มันเป็นคำสั่ง… สองอย่างนี้ต่างกันยังไง? สิ่งที่ต่างกันคือการตอบรับของเราหลังได้ยินว่าอีกฝ่ายไม่สามารถทำตามสิ่งที่เราขอได้ หากเราเข้าใจและแสดงความเห็นใจ สิ่งที่เราขอก่อนหน้านี้คือคำขอ นั่นคือ เราขอให้เขาทำ หากเขาสะดวกใจที่จะทำจริงๆ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่เป็นไร ในทางตรงกันข้าม หากเราโมโหและตัดสินอีกฝ่ายว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ คำขอของเราจะกลายเป็นคำสั่ง ที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดัน รู้สึกผิด หรืออาจจะรู้สึกต่อต้านเราไปเลย 

สรุป

สรุปการทำ NVC

และนี่ก็เป็น 4 ขั้นตอนของการสื่อสารแบบ NVC ขอลองยกตัวอย่างสถานการณ์การปรับใช้ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ให้เห็นกัน สมมติว่าแม่เห็นลูกวางของเพ่นพ่าน แทนที่จะบ่นใส่ลูกแล้วทำตัวหัวฟัดหัวเหวี่ยงให้ลูกรู้สึกรำคาญ ก็อาจจะพูดแทนว่า “เวลาที่แม่เห็นถุงเท้าซุกอยู่ใต้โต๊ะกาแฟกับทีวี (1) แม่รู้สึกหงุดหงิด (2) เพราะแม่อยากให้พื้นที่ส่วนรวมของพวกเราเป็นระเบียบมากกว่านี้ (3) ลูกช่วยเอาถุงเท้าไปเก็บไว้ในห้องลูก หรือในเครื่องซักผ้าแทนจะได้ไหม? (4)”

คำพูดก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการสื่อสารนั้นประกอบไปด้วยท่าทางและน้ำเสียงด้วย ถ้าคำพูดออกแบบมาดีแล้ว แต่กลับขึ้นเสียงให้อีกฝ่ายกลัวหรือรำคาญ หรือแสดงท่าทางที่ไม่น่าอภิรมย์ คำพูดนั้นก็จะเหมือนแค่บทท่อง ไม่สามารถจับใจอีกฝ่ายได้
เพราะอย่างนี้แหละ NVC จึงไม่ใช่สคริปต์พูดเฉยๆ แต่เป็นการฝึกให้เราทำความเข้าใจอีกฝ่าย เห็นใจอีกฝ่าย เพื่อที่จะได้สื่อสารออกมาจากใจได้จริงๆ

นอกจากสื่อสารเพื่อขอในสิ่งที่เราต้องการแล้ว เรายังสามารถสื่อสารเพื่อให้ได้รู้ในสิ่งที่คนอื่นต้องการด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างได้รู้ความต้องการของแต่ละคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ขัดแย้งหรือแตกหัก

ลองปรับไปใช้ในชีวิตประจำวันกันดูนะทุกคน การสื่อสารสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนของชีวิต ส่วนโพสนี้ก็ขอหยุดไว้เท่านี้ก่อนเดี๋ยวจะยาวไป

รายละเอียดเต็มๆ สามารถหาอ่านได้ที่หนังสือ Nonviolent Communication: A Language of Life หรือจะดูสรุปหนังสือแบบเต็มของเราที่ https://thezepiaworld.com/…/13/nonviolent-communication/ ก็ได้นะ 


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements