FinSpace

ทำไมผมถึงเชื่อว่าตลาดหุ้นจะร่วงได้อีก Crisisman X FinSpace

ทำไมผมเชื่อว่าตลาดหุ้นจะร่วงลงได้อีก

ลองย้อนกลับไปเพียงช่วง ต้นเดือนมีนาคม(2020) ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาอย่างรุนแรงจนหลายตลาดหุ้นทั่วโลกต้องทำ Circuit break หลายเสียงมองว่าเป็นเพียง Bear market ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็เฉลยแล้วว่านี่คือ “วิกฤติ” แต่เชื่อว่านักลงทุนในตลาดตอนนี้กำลังมีคำถามว่าแล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ วิกฤติจะลากนานขนาดไหน จากนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานานขนาดไหน?

ช่วงนี้ผมได้ทำงาน work from home จึงมีโอกาสได้ติดตามตลาด อ่านข้อมูลมากมาย สุดท้ายมีมุมมองต่อสถานการณ์ออกมา จึงอยากนำมาแบ่งปันกันหน่อยครับ

Advertisements

หมีตัวนี้กำลังกลายพันธุ์

Bear market
รูปที่ 1 ระดับ ระยะเวลา และเวลาที่กลับมาสู่จุดเดิมของตลาดหุ้นขาลงในแต่ละลักษณะ I Source : https://internewscast.com/stay-agile-investing-in-the-ides-of-march/ As of 10/4/2020

ออกตัวก่อนเลยว่า Bear market ครั้งนี้ได้เปลี่ยนจาก Event-driven กลายเป็น Structural ไปเรียบร้อยแล้ว การแพร่ระบาดจนต้องใช้มาตรการ lockdown เป็นจุดเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจอย่างแท้จริง จากผลกระทบที่น่าจะกินเวลาไม่กี่เดือนและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก กลับกลายเป็นว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ไตรมาส และส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทุกอุตสาหกรรมไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งผมเชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้จะใช้เวลาอีกยาวนาน ไม่มีโอกาสฟื้นตัวแบบ V-shape และโอกาสฟื้นตัวแบบ U-shape ก็น้อยลงทุกวัน ซึ่งอาจเป็นการฟื้นตัวแบบ U-shape ที่โค้งกว้างและลึกมาก หรือ L-shape ก็เป็นไปได้ ไปติดตามกันครับว่าทำไมผมถึงมีมุมมองเช่นนี้

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะยังไม่แตะจุดต่ำที่สุด

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศจีน ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเชื้อไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ไปทั่วประเทศจีน ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่ง หากกลับไปดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์จะพบว่าตัวเลขทั้งในฝั่ง soft data และ hard data ร่วงอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI, Retail sales และ Industrial production 

แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดอย่างมากของรัฐบาลจีนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่มีอัตราเร่งลดลงอย่างมีนัยยะนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 

ในทางกลับกันตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ กลับกำลังเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีนก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดได้เลยว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของทั้งยุโรปและสหรัฐฯ เดือนมีนาคมจะเป็นไปในแบบเดียวกับจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และปรากฏออกมาแล้วผ่านตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จำนวนตัวเลขผู้ตกงานพุ่งอย่างน่าตกใจ

รูปที่ 2 จำนวนหุ้นกู้ของบริษัทที่เข้าข่ายปรับโครงสร้างการเงิน I Source : Bloomberg.com As of 10/4/2020

ผลกระทบสะท้อนออกมาเพิ่มอีกผ่านตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เกรดลงทุน (Investment grade) และหุ้นกู้เกรดเก็งกำไร (High-yield grade) สูงในระดับเดียวกับวิกฤติปี 2008 จนทำให้จำนวนหุ้นกู้ของบริษัทที่เข้าข่ายต้องปรับโครงสร้างหนี้ (Distressed debt) แตะระดับเดียวกับวิกฤติปี 2008 เช่นเดียวกัน 

หุ้นกู้ของบริษัทที่เข้าข่ายปรับโครงสร้าง
รูปที่ 3 หุ้นกู้ของบริษัทที่เข้าข่ายปรับโครงสร้างการเงินในแต่ละอุตสาหกรรม I Source : Bloomberg.com As of 10/4/2020

แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมัน แต่กลับกลายเป็นว่ามีบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นเข้าข่ายเพิ่มอย่างมีนัยยะ แม้จะไม่ผิดชำระหนี้ในงวดนี้แต่การรีไฟแนนซ์คงมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก

แม้บางประเทศในเอเชียจะควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่ก็ต้องทุ่มเทกับการฟื้นฟูและพึ่งพาได้เพียงการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันการส่งออกแทบไม่ต้องพูดถึงเลย เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าอย่างสหรัฐฯ และยุโรปกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วง

Advertisements

เมื่อเป็นเช่นนี้ ธนาคารกลางและรัฐบาลหลายประเทศก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบ ‘ฉุกเฉิน’, กลับมาทำ QE ซึ่งเงินไม่ได้เข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรง หรือการอัดฉีดเงินให้ประชาชน

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมมองว่านี่เป็น Bear market แบบ Structural ซึ่งเรียกอีกแบบว่าวิกฤติ อีกทั้งไม่มีความคล้ายคลีงกับวิกฤติปี 2008 เพราะวิกฤติปี 2008 ส่วนมาตรการกระตุ้นไม่น่าเพียงพอ เนื่องจากนโยบายจากสองฝั่งไม่ประสานกันหรือต่างฝ่ายต่างออกมาตรการ มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ประสานสองนโยบายกันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามแม้นโยบายจากสองฝั่งจะประสานกันได้อย่างเห็นผล แต่ผมก็มองว่าโอกาสที่จะฟื้นตัวในทันทีเป็นไปได้ยาก นั่นเพราะมีอีกปัจจัยที่เรียกว่า ‘ความเชื่อมั่น’

มีใครบ้างที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะไม่โดนพักงานแบบไม่จ่ายค่าตอบแทน ใครบ้างที่เชื่อว่าจะมีเงินเข้ากระเป๋ามาทดแทนเงินที่จ่ายออกมาอย่างแน่นอน และหากควบคุมสถานการณ์ได้แล้วใครเชื่อบ้างว่าจะไม่มีการระบาดอีกระลอก ผมเชื่อว่าความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สร้างยากที่สุด มิฉะนั้นแล้วสุมาอี้จะโดนดองเค็มในยุคโจโฉหรือครับ และจากปัจจัยทั้งหมดยิ่งทำให้ดูเหมือนว่า ‘วัคซีน’ จะเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่ช่วยพลิกวิกฤตินี้ได้บ้าง ซึ่งกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้ได้จริงก็คงใช้เวลาอีกหลายเดือน

เชื่อว่าตลาดหุ้นจะยังปรับตัวลงได้อีก

ตลาดหุ้นยังปรับลงได้อีก
รูปที่ 4 ระดับ P/E ของดัชนี S&P 500 I Source : Factset.com As of 10/4/2020

ณ ปัจจุบัน ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัทยังไม่ได้ประกาศ ระดับ P/E ratio ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ประมาณ 18.73 เท่า นักวิเคราะห์ออกมาประมาณการ EPS สำหรับปี 2020 ไว้ว่าจะลดลง 4.5% (YoY) หรือลดลงมาที่ 143.25 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะมีบางสำนักปรับลดกันไปกว่า 10% ดังนั้นลองนำ P/E ratio มาคูณกับ EPS ที่ประมาณกันดูครับ ก็จะได้ระดับดัชนีที่น่าสนใจ ซึ่งนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์แต่ละท่านก็จะมีระดับ EPS ที่ประมาณการแตกต่างกันไปครับ

ประมาณการขยายตัวของกำไร
รูปที่ 5 ประมาณการการขยายตัวของกำไรในแต่ละอุตสาหกรรมในดัชนี S&P 500 I Source : Factset.com As of 10/4/2020

ยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อเท่าไรผลกระทบจะยิ่งมากเท่านั้น อีกทั้งมีโอกาสที่จะสร้างผลกระทบจนเกิดการผิดชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งผลประกอบการไตรมาสที่ 1 เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองไม่แพ้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันครับ

Advertisements

A-B-C นี่แหละคือสัจจะ

elliott wave abc
รูปที่ 6 ลักษณะกราฟขาขึ้นและขาลง I Source : https://www.babypips.com/learn/forex/corrective-waves As of 10/4/2020

ตามตำราของเทคนิคอล ขาลงของตลาดหุ้นมักจะมีการปรับตัวขึ้นระหว่างทางที่เรียกกันว่า Bear market rally หรือก็คือเวฟ B ใน corrective wave A-B-C เมื่อผ่านพ้นเวฟ B ไป ขาลงก็จะมาอีกครั้งกับเวฟ C ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เวฟ C สามารถปรับตัวทำ new low หรือแค่แตะระดับ low เดิมก็ได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าตลาดจะพบกับข่าวร้ายอะไรที่ไม่คาดฝันอีกจนผลักให้เวฟ C ลงไปทำ new low

ณ ตอนนี้เชื่อว่าตลาดได้รับรู้ข่าวการแพร่ระบาดไปในราคาแทบจะหมดแล้ว ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามหลังจากนี้มีเพียงแค่ 2 ปัจจัย หากไม่ใช่ 1. Growth driver ก็ต้องเป็น 2. Negative surprise ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มจะพบเจอปัจจัยที่ 2 มากกว่าปัจจัยที่ 1 ในระยะต่อจากนี้


ติดตามบทความ การเงิน สนุกๆกันต่อได้ที่ FinSpace – Finance
ติดตามบทความอื่น ๆ ของ Crisis Man ได้ที่ Fanpage  https://www.facebook.com/MrCrisisman/

อ่านอะไรต่อดี…

Advertisements

CrisisMan

Related post

Advertisements