FinSpace

ความเสี่ยงกองทุน 8 ระดับ เรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนเริ่มลงทุน FinSpace x Finnomena

8 ระดับความเสี่ยงกองทุน

ความเสี่ยงระดับ 1: กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ

เริ่มจากระดับความเสี่ยง 1 ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด กองทุนในกลุ่มนี้คือ กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ สินทรัพย์ที่ไปลงทุนก็จะอยู่ในกลุ่มเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง กลุ่มสินทรัพย์ในตลาดเงินพวกนี้ พูดง่ายๆคือการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินเราในระยะสั้น ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยจะได้ดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน

กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศนี้ถือว่าความเสี่ยงน้อยมาก คือแทบไม่มีโอกาสขาดทุน เพราะเราเป็นเจ้าหนี้รัฐบาล ซึ่งมีความมั่นคงสูงอยู่แล้ว และพอเป็นการลงทุนในประเทศทำให้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด้วย แต่พอเสี่ยงต่ำ ก็ต้องแลกมาด้วยผลตอบแทนที่ต่ำเช่นกัน

Advertisements

ความเสี่ยงระดับ 2: กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ

ระดับ 2 จะคล้ายๆกับระดับที่ 1 แต่แค่จะมีการแบ่งไปลงตลาดเงินในต่างประเทศด้วยบางส่วน คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 50% ของ NAV ตราสารหนี้ที่ไปลงทุนก็จะเป็นพวกอายุไม่เกิน 1 ปีเหมือนกัน

ระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาตรงนี้จะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ใครที่อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงค่าเงิน ก็สามารถกลับไปฟัง Club Fund Day SS2 Ep 6 ได้ เป็นตอนที่เคยพูดถึงเรื่องกองทุนที่ hedging ค่าเงินครับ

ความเสี่ยงระดับ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล

ลักษณะการลงทุนจะคล้ายๆกับตลาดเงินในประเทศ เพราะพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นการให้เงินรัฐบาลในการกู้ยืมเหมือนกัน แต่พันธบัตรรัฐบาลจะมีอายุการถือนานกว่าพวกตลาดเงิน โดยจะมีอายุเกิน 1 ปี เช่น พันธบัตรรัฐบาล 3 ปี 5 ปี 7 ปี

พอถือนานขึ้นการคาดการณ์ผลตอบแทนก็จะมีความผันผวนมากขึ้น แต่ยังไงก็ตามก็ยังถือว่ามีความมั่นคงอยู่เพราะเป็นการให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน ดังนั้นความเสี่ยงกองทุนรวมประเภทนี้จึงอยู่ที่ระดับ 3

ความเสี่ยงระดับ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้

จากเดิมที่เราให้รัฐบาลกู้เงินในรูปแบบตลาดเงินหรือพันธบัตรรัฐบาล สำหรับกองทุนความเสี่ยงระดับที่ 4 นี้จะมีการขยายไปลงทุนในพวกหุ้นกู้ด้วย ซึ่งก็คือการให้บริษัทเอกชนกู้เงินนั่นเอง พอเป็นบริษัทเอกชนที่อาจจะไม่มั่นคงเท่ารัฐบาล ก็จะมีการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อจูงใจนักลงทุนที่อาจจะต้องรับความเสี่ยงที่มากขึ้น

จะสังเกตว่ากองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยง 1-4 จะอยู่ในกลุ่มพวกตราสารหนี้ทั้งหมด คือการที่เราเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลหรือบริษัทเอกชน ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ “การผิดนัดชำระหนี้” ถ้าพอครบกำหนดเวลาแล้วกองทุนโดนผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคา NAV ได้

แต่การผิดนัดชำระหนี้ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่ากองทุนโดนชิ่งแล้วเสียเงินต้นไปหมด แต่เมื่อผิดนัดชำระหนี้แล้ว อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือขายสินทรัพย์มาใช้หนี้ ซึ่งจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การผิดชำระหนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะบริษัทที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่เค้าก็ไม่อยากจะเบี้ยวเราหรอกครับ เพราะถ้าเค้าเบี้ยวความน่าเชื่อถือในตลาดจะลดลง และจะถูก downgrade

ความเสี่ยงระดับ 5: กองทุนรวมผสม

กองทุนรวมผสมจะเข้าไปลงทุนทั้งตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น ผสมๆกัน ส่วนจะลงอะไรในสัดส่วนเท่าไรเราต้องไปอ่านแบบละเอียดในหนังสือชี้ชวนอีกที

พอมีการลงทุนในหุ้น (ตราสารทุน) เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นว่ากองทุนนั้นจะถูกจัดระดับความเสี่ยงให้อยู่สูงขึ้นมา เพราะการลงทุนในตราสารทุนมันจะไม่ใช่แค่เรื่องของการยืมเงินคืนเงินเหมือนตราสารหนี้ละ แต่มันคือการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งมันมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องมาก แตกต่างกันไปตามแต่ละธุรกิจ ทำให้พวกราคาหุ้นมันผันผวนอยู่ตลอดเวลา ความเสี่ยงจึงสูง

Advertisements

ความเสี่ยงระดับ 6: กองทุนรวมตราสารทุน

ระดับที่ 5 คือการลงทุนผสมๆ กัน ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ส่วนระดับ 6 มันคือกองทุนรวมตราสารทุนล้วนๆเลย หุ้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ อย่างที่ทุกคนคงเคยได้ยินพวกหุ้น 5 เด้ง 10 เด้ง เศรษฐีหลายคนในไทยก็รวยจากตลาดหุ้นนี่แหละครับ ถ้าหากเราอยากเพิ่มความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตของเรา กองทุนหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลว

อย่างไรก็ตาม มีคนรวยจากตลาดหุ้น ก็มีคนหมดตัวจากตลาดหุ้นเหมือนกัน เพราะความผันผวนมันสูงมาก จุดนี้กองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นก็เลยจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ 6 รวมถึงพวกกองทุนที่ไปลงในหุ้นต่างประเทศ หรือว่าลงทุนในดัชนีที่เกี่ยวกับกับหุ้นอย่างพวก SET50 หรือ S&P500 ด้วย ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับ 6 เช่นกัน

ความเสี่ยงระดับ 7: กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม

กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม เรียกอีกอย่างว่า Sector Fund กองทุนกลุ่มนี้อาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นเยอะเท่าไร โดยกองทุนในกลุ่มนี้จะเป็นพวกกองทุนที่โฟกัสการลงทุนไปใน sector เดียว เช่น กลุ่ม ENERGY กลุ่ม BANKING หรือกลุ่ม HEALTHCARE เป็นต้น พวกนี้จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เพราะเค้าโฟกัสเงินไปที่เดียวเลย แต่พอการกระจายตัวต่ำ ก็ทำให้ความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน

ความเสี่ยงระดับ 8: กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก

มาที่กลุ่มสุดท้าย กลุ่มความเสี่ยงระดับ 8 กองทุนกลุ่มนี้จะมีความพิเศษหน่อย คือ จากระดับความเสี่ยง 1-7 ที่ไล่มา มันคือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แล้วอัตราผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นตาม แต่สำหรับกองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกนี้ อัตราผลตอบแทนมันอาจจะต่ำกว่ากองทุนรวมหุ้นก็ได้ การที่มันถูกจัดเรตให้มีความเสี่ยงระดับนี้เป็นเพราะว่า มันเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจสูง

ตัวอย่างกองทุนในกลุ่มนี้เช่น พวกกองอสังหาริมทรัพย์หรือ REIT (อันนี้กลับไปฟัง Club Fund Day SS2 Ep 5 ได้นะครับ เคยพูดถึงเรื่อง REIT ไว้อยู่) กองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ความเฉพาะทาง ต้องมีความรู้ความเข้าใจตลาดประกอบค่อนข้างเยอะ มันเลยถูกจัดให้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงครับ

Advertisements

ส่งท้าย…อีก 2 เรื่อง

  1. การจัดอันดับความเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า กองทุนเสี่ยงต่ำแย่กว่าหรือดีกว่ากองทุนเสี่ยงสูง การแบ่งระดับความเสี่ยงมีไว้เพื่อ “เตือนสติ” ให้เราระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ให้นักลงทุนเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเราเอง เพื่อที่เราจะได้สบายใจในการลงทุน และประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว
  2. ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ไม่ได้หมายความว่าห้ามซื้อกองทุนเสี่ยงสูงเลย แต่ควรจะซื้อในสัดส่วนที่น้อยลง และถ่วงน้ำหนักพอร์ตส่วนใหญ่ไปที่กองทุนเสี่ยงต่ำ เพื่อที่ว่าถ้าหากตลาดดี เราก็จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นบ้าง ส่วนถ้าตลาดแย่ พอร์ตเราก็จะได้รับผลกระทบน้อยเพราะมีสัดส่วนกองทุนเสี่ยงสูงไม่เยอะนั่นเอง

ที่มา : https://www.finnomena.com/podcast/club-fund-day-ss2-ep-8/


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W

Advertisements

Finnomena

Related post

Advertisements