FinSpace

อ่านกราฟเก่งแค่ไหน ก็ไม่ทำกำไร ! รู้จัก Risk of Ruin ?

อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่ทำกำไร ตอน 4

รวมซีรีส์อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ทั้งหมด

EP 1 (ประเด็นสำคัญในการบริหารเงินลงทุน)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-1/
EP 2 (Money Management ที่มาและวัตถุประสงค์)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-2/
EP 3 (ขั้นตอนในการบริหารเงินลงทุน)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-3/
EP 4 (รู้จัก Risk of Ruin) <<<<
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-4/

Advertisements

ในตลาดหุ้นหรือ TFEX ว่ากันว่า 100 คน มีคนขาดทุน 80 คน คนเท่าทุน 15 คน คนกำไร 5 คน ข้อความนี้เป็นจริงหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่จากที่อยู่ในวงการของการลงทุนมาสิบกว่าปี ผมค่อนข้างมั่นใจว่าคนที่ขาดทุนมีจำนวนเยอะกว่าคนที่มีกำไรอย่างแน่นอน
.
ในเมื่อคนที่เทรดหุ้นหรือ TFEX แล้วเจ๊งเป็นคนส่วนใหญ่ของตลาด ดังนั้นผมคิดว่าเป้าหมายแรกของนักเทรดหน้าใหม่ คงไม่ใช่การพยายามเทรดเพื่อให้ได้กำไรเสียแล้ว แต่น่าจะเป็นการพยายามเทรดยังไงไม่ให้เจ๊งมากกว่า
.
จากประสบการณ์ในการให้คำแนะนำเพื่อนๆ นักลงทุน พบว่าคนส่วนใหญ่เวลาที่จะซื้อหุ้นมักให้ความสำคัญผลกำไรที่คาดว่าจะได้ โดยตั้งคำถามว่า “ซื้อหุ้นตัวนี้แล้วราคาเป้าหมายน่าจะไปที่เท่าไหร่ แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่”
.
แต่ในทางตรงกันข้ามเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ ในการเทรดแต่ละครั้งจะให้ความสำคัญไปที่ความเสี่ยง และผลขาดทุนก่อนเสมอ เพื่อกำหนดว่าในการเทรดแต่ละครั้งจะลงมืออย่างไร
.
ดังนั้นถ้าจะให้ผมแนะนำมือใหม่ว่า มีเคล็ดลับการเทรดอย่างไรให้ได้กำไร ผมจะบอกว่า

“การเทรดให้ได้กำไร ต้องคิดว่าจะเทรดอย่างไรไม่ให้เจ๊ง”
.
แล้วสุดท้ายผลกำไรจะตามมาเอง ซึ่งความรู้ที่มือใหม่ต้องศึกษาเอาไว้ เพื่อนำมาสร้างกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดในตลาดนั้น ก็คือ การบริหารความเสี่ยงและเงินลงทุน หรือ Money Management นั่นเอง ซึ่งเป็นที่มาของซีรีส์นี้นี่เอง
.
สำหรับบทความของซีรีส์ “อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน” ตอนที่ 4 ผมจะมาแนะนำแนวทางในการบริหารเงินลงทุนในการเทรด เพื่อให้เทรดอย่างไรแล้วไม่เจ๊งหมดตัว ถ้าพร้อมแล้วมาดูรายละเอียดกันได้เลยครับ

– เทรดอย่างไรไม่มีเจ๊ง –

ในบทความตอนที่ 4 นี้จะมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ Money Management ที่ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักกัน คือ Risk of Ruin หรือ ความน่าจะเป็นที่จะเจ๊ง (เจ๊ง = หมดตัว) ตัวเลขตัวนี้จะบอกว่าวิธีการเทรดของเราในปัจจุบันมีความเสี่ยงในการเทรดระยะยาวแล้วจะเจ๊งหมดตัวมากน้อยขนาดไหน

การที่จะรู้ว่ามีตัวเองมีความน่าจะเป็นที่เทรดแล้วเจ๊งมากน้อยขนาดไหน เราจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง คือ

1) % Win Ratio (กำไรบ่อยไหม)

คำนวณจาก จำนวนครั้งที่กำไร หาร จำนวนครั้งที่ซื้อขายทั้งหมด เป็นค่าที่บอกว่าครั้งที่ผลการเทรดออมาเป็นกำไร คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนครั้งที่เทรดทั้งหมด

2) Payoff Ratio (ตอนกำไรได้เยอะไหมเทียบกับตอนขาดทุน)

คำนวณจาก กำไรเฉลี่ยต่อครั้ง หาร ขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้ง เป็นค่าที่บอกว่าค่าเฉลี่ยของผลกำไรในครั้งที่เทรดแล้วได้กำไร เป็นกี่เท่าของค่าเฉลี่ยของผลขาดทุนในครั้งที่เทรดแล้วขาดทุน หรือบอกว่าตอนที่กำไรได้กำไรมากกว่าตอนขาดทุนขนาดไหน

3) % Capital Risk Exposure (เสี่ยงแต่ละครั้งมากหรือน้อย)

คือ จำนวนเงินที่จะเสียไปถ้าผลการเทรดครั้งนั้นออกมาเป็นขาดทุนคิดเป็นเปอร์เซนต์เปรียบเทียบกับเงินทุนเริ่มต้น เช่น ถ้าเรามีเงินทุน 100,000 บาท และถ้าเราเสี่ยงที่จะขาดทุน 5,000 บาท จากการเทรดในแต่ละครั้ง จะได้ค่า % Capital Risk Exposure เท่ากับ 5%

เทรดอย่างไรไม่มีเจ๊ง

ตัวเลขในข้อที่ 1 และ 2 คือ %Win Ratio และ Payoff Ratio สามารถคำนวณได้สถิติการเทรดของเรา ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูล หรือทำบันทึกการเทรด (Trading Journal) ส่วนตัวเลขในข้อที่ 3 คือ % Capital Risk Exposure จะเป็นตัวเลขที่เราต้องตัดสินใจเองว่าจะเสี่ยงที่จะเสียเงินในการเทรดครั้งละเท่าไหร่

– Risk of Ruin –

ค่า Risk of Ruin ที่คำนวณออกมาได้จะมีค่าระหว่าง 0 – 1 หรือ 0% -100% ถ้าคำนวณ Risk of Ruin ออกมาได้ 100% แปลความหมายได้ว่ามีโอกาสหมดตัวแน่นอน!!! ส่วนค่า Risk of Ruin เท่ากับ 0 แปลความหมายได้ว่า ไม่น่าจะหมดตัว

Risk of Ruin

ตัวอย่างที่ 1 (สีแดง)
ถ้าสถิติในการเทรดของเรามีค่า % Win Ratio = 45% Payoff Ratio = 1 และเสี่ยงที่ขาดทุนครั้งละ 2% ของเงินทุน เราจะมีความเสี่ยงในการเทรดแล้วเจ๊งหมดตัว 93.6%

ตัวอย่างที่ 2 (สีน้ำเงิน)
ถ้าสถิติในการเทรดของเรามีค่า % Win Ratio = 35% Payoff Ratio = 2 และเสี่ยงที่ขาดทุนครั้งละ 1.5% ของเงินทุน เราจะมีความเสี่ยงในการเทรดแล้วเจ๊งหมดตัว 0.8%

ในหนังสือ Trader Money Management System ที่เขียนโดย Bennett A. McDowell ได้แสดงตารางค่าของ Risk of Ruin จากการทดลองของ Professor Nauzer Balsara ด้วยค่า %Win Ratio ตั้งแต่ 25-60% , Payoff Ratio ตั้งแต่ 1-5 และ %Capital Risk Exposure ที่ 10%

นอกจากนี้การหาค่า Risk of Ruin ยังสามารถทำได้โดยคำนวณจากสูตรสำเร็จโดยการแทนค่าตัวแปลได้อีกด้วย แต่สมการจะค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ในบทความนี้ เพราะโดยส่วนตัวผมใช้ตารางด้านบนเป็นตัวเลขอ้างอิง ก็ได้ไอเดียเพียงพอแล้ว ส่วนใครสนใจสูตรคำนวณ Risk of Ruin ก็ลองศีกษาเพิ่มเติมกันดูครับ

– วิธีใช้งานตาราง Risk of Ruin –

ตาราง Risk of Ruin

การนำตาราง Risk of Ruin ไปใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ซื้อขายแล้วมีโอกาสหมดตัว ทำได้โดยต้องเก็บข้อมูล 2 ตัวจากสถิติการเทรดก่อน ได้แก่ %Win Ratio และ Payoff Ratio จากนั้นค่อยเลือก % Capital Risk Exposure ที่จะทำให้ค่า ROR มีค่าใกล้ 0% เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้ง

*** ถ้าเราต้องการเพิ่มจำนวนเงินที่จะเสี่ยงในแต่ละครั้ง ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องพัฒนากลยุทธ์การซื้อขายให้มี %Win Ratio หรือ Payoff Ratio ที่เพิ่มขึ้นก่อน โดยแนวทางในการเพิ่ม %Win Ratio ให้หาตัวช่วยที่ทำให้ได้สัญญาณซื้อขายที่แม่นยำขึ้นเช่น การใช้ Indicators เพื่อกรองสัญญาณหลอก เป็นต้น ส่วนแนวทางการเพิ่ม Payoff Ratio ให้ทดลองปรับวิธีการตัดขาดทุน หรือวิธีการทำกำไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ***

Advertisements

– สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Risk of Ruin (ROR) –

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Risk of Ruin

มีข้อส้งเกตเกี่ยวกับ Risk of Ruin และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Risk of Ruin ที่น่าสนใจ และควรรู้เพื่อใช้ในการวางแผนบริหารเงินในการเทรดดังต่อไปนี้ครับ

1) % Win ratio ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ROR ลดลง

2) Payoff Ratio ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ROR ลดลง

3) % Capital Risk Exposure เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ROR เพิ่มขึ้น

4) กลยุทธ์การซื้อขาย Trend Following ส่วนใหญ่มี %Win Ratio อยู่ที่ 30%-40%

5) กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Mean Reversal หรือ Short Term ส่วนใหญ่จะต้องการ %Win Ratio ที่สูง ประมาณ 50% ขึ้นไป เนื่องจากมี Payoff Ratio ต่ำ กว่าระบบซื้อขายแบบ Trend Following

6) % Win Ratio ที่สูงกว่า 50% ขึ้นไป ค่า ROR จะลดลงอย่างรวดเร็ว

7) ระบบซื้อขายที่ Payoff Ratio มีค่าต่ำกว่า 1 ถือว่าเป็นระบบซื้อขายไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง

8) ระบบซื้อขายที่ Payoff Ratio มีค่ามากกว่า 3 เป็นค่าสถิติที่หาได้ยากมาก

9) ถ้าการต้องการผลตอบแทนเพิ่มโดยเพิ่ม %Capital Risk Exposure อาจจะไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะต้องรับเพิ่ม เพราะ ROR จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Advertisements

10) จากตาราง ROR จะเห็นได้ว่าทำไมจึงมีข้อแนะนำทั่วไปว่า “การเทรดในแต่ละครั้งไม่ควรเสี่ยงที่จะขาดทุนเกิน 2 % ของเงินลงทุน แต่สำหรับมือใหม่ ไม่ควรเสี่ยงเกิน 1% ของเงินลงทุน”

สรุป Risk of Ruin

การที่เราจะเทรดแล้วจะเจ๊งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ เรากำไรบ่อยไหม (%Win Ratio) ตอนกำไรได้มาหรือน้อยเทียบกับตอนขาดทุน (Payoff Ratio) และเสี่ยงแต่ละครั้งมากหรือน้อย (%Capital Risk Exposure) โดยสองตัวแรกเป็นข้อมูลสถิติของกลยุทธ์ในการเทรดของเรา ส่วนตัวสุดท้ายเราสามารถกำหนดได้ว่าจะเสี่ยงมากหรือน้อย

ดังนั้น ถ้าเรารู้ข้อมูลสองตัวแรก เราก็จะสามารถรู้ได้ว่าควรจะเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้งเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เทรดแล้วเจ๊ง ซึ่งถ้าใครยังไม่เคยจดบันทึกการซื้อขายมาก่อน ก็มีข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ ไม่ควรเสี่ยงที่จะเสียเงินเกินครั้งละ 1% ของเงินทุน และมือเก๋าไม่ควรเสี่ยงที่จะเสียเงินเกินครั้งละ 2% ของเงินทุน

ผมเชื่อว่าหลายคนที่เทรดหุ้นหรือ TFEX แล้วเจ๊ง เนื่องจากไม่เคยวางแผนว่าในการซื้อหุ้นแต่ละครั้งจะเสี่ยงครั้งละเท่าไหร่ จะซื้อกี่หุ้น กี่สัญญา แต่หลังจากที่อ่านบทความตอนนี้นี้จบแล้ว ผมหวังว่าผู้อ่านจะไม่เสี่ยงในการซื้อขายแต่ละครั้งมากจนเกินไป ซึ่งผมรับรองว่าถ้าทำแบบนี้แล้ว เทรดหุ้นและ TFEX ไม่มีเจ๊งแน่นอน!!!


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb

อ่านอะไรต่อดี…

Advertisements

Daddy Trader

เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน Technical Analysis

Related post

Advertisements