FinSpace

[7 Step] เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม

เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม

รู้อยู่แล้วว่า “กองทุนรวม” เป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับมือใหม่ สำหรับวางแผนการเงินและต่อยอดความมั่งคั่งของตัวเอง

อย่างไรก็ดี หลายคนอยากซื้อกองทุนรวม แต่มักติดปัญหาไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี ไม่รู้ต้องไปติดต่อเปิดบัญชีที่ไหน หรือเลือกกองทุนยังไงถึงจะเหมาะกับตัวเอง

Advertisements

วันนี้เราจึงมีวิธี เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม แบบเบื้องต้น ฉบับมือใหม่สุดๆ เรียกว่าใครเริ่มต้นจากศูนย์ยังไม่มีข้อมูลอะไร มาอ่านกันแบบทีละ Step ได้เลย  

—————————————————————

Step 1 รู้จักก่อนว่ากองทุนรวมคืออะไร

กองทุนรวมคือ

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่นำเงินของหลายๆ คนมารวมกัน แล้วนำไปจัดตั้งเป็น “กองทุน” โดยมีมืออาชีพคอยดูแล เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาฯ ทองคำ ฯลฯ  

เมื่อได้กำไรสร้างผลตอบแทนงอกเงย ค่อยนำกำไรส่วนนั้นมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งจะมากน้อยตามสัดส่วนที่เราซื้อกองทุนนั่นเอง

—————————————————————

Step 2 ทำไมมือใหม่ควร เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม

มือใหม่ควร เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม

1. เงินน้อยก็ลงทุนได้ ปัจจุบันเราใช้เงินแค่ 1 บาทก็ซื้อกองทุนรวมได้แล้ว อย่างไรก็ดี ขั้นต่ำที่เราแนะนำควรอยู่ที่ 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่ไม่ได้เยอะเลย มีทุนน้อยก็ลงทุนน้อย เมื่อเงินเพิ่มขึ้นค่อยเพิ่มเงินลงทุนได้

2. มีมืออาชีพมาคอยดูแล ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนก็สามารถซื้อกองทุนรวมได้ เพราะเขามีมืออาชีพด้านนี้อย่าง “ผู้จัดการกองทุน” คอยจัดให้โดยเฉพาะ ทั้งเรื่องจัดพอร์ต เลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสม และบริหารความเสี่ยงจากความผันผวน

3. กระจายลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย กองทุนรวมจะมีนโยบายกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของตลาดได้ดีกว่า

4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นข้อได้เปรียบเฉพะตัวของกองทุนรวมเลย เพราะกองทุนบางประเภท เช่น กองทุน LTF และกองทุน RMF จะได้สิทธิ์เรื่องการลดหย่อนภาษีเข้ามาด้วย เรียกว่าซื้อทีเดียวเหมือนได้ประโยชน์ 2 เด้ง

—————————————————————

Step 3 เตรียมตัวให้พร้อม

เตรียมเอกสาร

เอกสารที่ต้องใช้เปิดบัญชีกองทุนรวม
1. บัตรประชาชน
2. สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (Book Bank)
โดยทั่วไปจะเราใช้หลักฐานเพียง 2 อย่างก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นบางแห่งอาจจะขอเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสลิปเงินเดือน เป็นต้น

อายุเท่าไหร่ถึงจะเปิดบัญชีกองทุนได้
ปกติแล้วข้อกำหนดในการเปิดบัญชีกองทุนรวม ต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่บางแห่งอาจอนุญาตให้ผู้ที่อายุไม่ถึงเปิดบัญชีได้ โดยผ่านบัญชีในชื่อผู้ปกครอง

มีเงินเท่าไหร่ ถึงซื้อกองทุนรวมได้
แม้เงินหลักหน่วยก็สามารถเริ่มลงทุนได้แล้ว แต่แนะนำจำนวนเงินขึ้นต่ำที่เหมาะสมควรเริ่มต้นที่หลักพันขึ้นไปจะดีกว่า เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนอย่างเหมาะสม

—————————————————————

Step 4 เลือกเปิดบัญชีที่ไหนดี 

Open Account

การเปิดบัญชีกองทุนรวมที่ไหน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ

เปิดโดยตรงกับธนาคาร/บล. ในเครือเดียวกับ บลจ.
เช่น SCBAM, KTAM, KAsset ฯลฯ
ข้อดี :  เปิดบัญชีสะดวก มีสาขาให้ติดต่อเยอะ
ข้อเสีย : บางแห่งยังเลือกซื้อได้เฉพาะกองทุนของ บลจ. ที่เป็นของเครือเท่านั้น

เปิดผ่านตัวกลางกับบลน. หรือ บล. ที่มีลักษณะเป็น Fund Supermart
เช่น Finnomena, WealthMagik, Phillip ฯลฯ
ข้อดี : มีกองทุนให้เลือกมากกว่า เปิดพอร์ตทีเดียวซื้อได้หลากหลายบลจ.
ข้อเสีย : จำนวนสาขาที่อาจยังไม่ครอบคลุม

—————————————————————

Advertisements

Step 5 เลือกกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายตัวเอง

หาเป้าหมาย เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม

แม้กองทุนรวมจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเงินลงทุนให้ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าการลงทุนแล้ว ยังไงก็มีความเสี่ยงเหมือนกับสินทรัพย์อื่นๆ

โดยกองทุนรวมมีหลากหลายประเภทให้เลือก ดังนั้น เราจึงควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งเราได้ลิสต์กองทุนไล่ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำสุดจนสูงสุดมาให้ดูคร่าวๆ

ความเสี่ยงระดับ 1 : กองทุนรวมตลาดเงิน
ความเสี่ยงระดับ 2 : กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
ความเสี่ยงระดับ 3 : กองทุนรวมผสม
ความเสี่ยงระดับ 4 : กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
ความเสี่ยงระดับ 5 : กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกที่ลงทุนในทองคำ, น้ำมัน, สินค้าเกษตร, ตราสารอนุพันธ์ เป็นต้น

—————————————————————

Step 6 ศึกษาข้อมูลให้ดี ก่อนคัดกองทุนที่ใช่

ศึกษาข้อมูล

1. อ่าน Fund Fact Sheet

คือ หนังสือชี้ชวนที่สรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน เช่น ประเภทกองทุน, นโยบายลงทุน, ระดับความเสี่ยง, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV), ผลดำเนินงานย้อนหลัง, การกระจายสินทรัพย์ลงทุน และสัดส่วนพอร์ตลงทุน เป็นต้น

2. เทียบผลตอบแทนกับดัชนีชี้วัด (Benchmark)

เราควรเปรียบเทียบผลดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี ของกองทุนนั้นๆ กับกองทุนประเภทเดียวกันอยู่เสมอ เพื่อดูผลดำเนินงานของการลงทุน

รวมถึงอาจจะเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ว่ากองทุนที่มีนโยบายคล้ายๆ กัน มีกองไหนบ้างที่โดดเด่นกว่าตลาด

3. ตรวจสอบค่าธรรมเนียม

รายละเอียดค่าธรรมเนียมการซื้อขายและค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องเช็กให้ดี เพราะหากค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ก็หมายถึงผลตอบแทนที่เราได้จะลดลงด้วย

Advertisements

4. อ่านรีวิวอื่นๆ เพิ่มเติม

ปัจจุบันมีเว็บไซต์ต่างๆ ที่รีวิวเจาะลึกกองทุนรวมออกมามากมาย ซึ่งเราสามารถเข้าไปติดตามเพื่ออัปเดตข่าวสาร อย่างไรก็ดี เราควรอ่านข้อมูลให้รอบด้านจากหลายๆ แหล่งด้วย

—————————————————————

Step 7 หมั่นติดตามผลการลงทุนอยู่เสมอ

ติดตามผลการลงทุน

หลายคนซื้อกองทุนไปแล้ว แต่กลับปล่อยทิ้งไว้อยู่อย่างนั้น ไม่ได้กลับมาตรวจสอบผลดำเนินงานเลย ซึ่งการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสขาดทุนได้ รวมทั้งโอกาสในการเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติม เมื่อเห็นโอกาสทำกำไร

โดยสรุปแล้วกองทุนรวมถือว่าเป็นวิธีลงทุนที่มือใหม่สามารถเริ่มต้นได้ ด้วยเงินจำนวนน้อยๆ แต่สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี และประหยัดเวลาการลงทุนอีกด้วย


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements